สัมมนาสมาคมครูภาษาและวัฒนธรรมญี่ปุ่นแห่งประเทศไทยครั้งที่ 20
เรื่อง “การสอนวิชาสังคมวัฒนธรรมญี่ปุ่น และสอนไวยากรณ์อย่างไรให้ใช้เป็น”
สมาคมครูภาษาและวัฒนธรรมญี่ปุ่นแห่งประเทศไทยร่วมกับเจแปนฟาวน์เดชั่น กรุงเทพฯ ได้จัดสัมมนาประจำปีครั้งที่ 20 เมื่อวันเสาร์ที่ 3 มิถุนายน 2560 เวลา 08:30-16:00 น. ณ ห้องประชุม เจแปนฟาวน์เดชั่น กรุงเทพฯ เรื่อง”การสอนวิชาสังคมวัฒนธรรมญี่ปุ่น และสอนไวยากรณ์อย่างไรให้ใช้เป็น” โดยหัวข้อช่วงเช้าคือ “การสอนวิชาสังคมและวัฒนธรรมญี่ปุ่น” และหัวข้อช่วงบ่ายคือ “สอนไวยากรณ์อย่างไรให้ใช้เป็น” เพื่อให้อาจารย์ผู้เกี่ยวข้องได้รับทราบข้อมูล รวมถึงแลกเปลี่ยนประสบการณ์เกี่ยวกับการเรียนการสอนสังคมและวัฒนธรรมญี่ปุ่น และการสอนไวยากรณ์ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการปรับปรุงการเรียนการสอนต่อไป ในงานสัมมนาครั้งนี้มีผู้ลงทะเบียนเข้าร่วมทั้งสิ้น 90 คน ประกอบด้วยครูอาจาย์ที่สอนภาษาญี่ปุ่นทั้งในระดับมัธยมศึกษาและอุดมศึกษา
ช่วงเช้า ประกอบด้วยการบรรยายพิเศษบอกเล่าประสบการณ์การสอนวิชาวัฒนธรรมญี่ปุ่น โดย ผศ.ดร. กนก รุ่งกีรติกุล จากมหาวิทยาลัยศิลปากร และการบรรยายพิเศษเรื่องการสอนวิชาสังคมวัฒนธรรมญี่ปุ่นเชิงประวัติศาสตร์ โดย รศ.วีรวรรณ วชิรดิลก จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ช่วงบ่าย การสัมมนาในหัวข้อ “สอนไวยากรณ์อย่างไรให้ใช้เป็น” โดยแบ่งเป็น 2 ช่วงย่อย ช่วงที่ 1 บรรยายโดย ผศ.ดร.พัชราพร แก้วกฤษฎางค์ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และช่วงที่ 2 โดย ผศ.ดร. เตวิช เสวตไอยาราม จากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
รายละเอียดการสัมมนามีดังนี้
- การบรรยายพิเศษเรื่อง “ประสบการณ์สอนวิชาวัฒนธรรมญี่ปุ่นมหาวิทยาลัยศิลปากร”
โดย ผศ.ดร. กนก รุ่งกีรติกุล
วิทยากรบรรยายถึงรายวิชาที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับสังคมและวัฒนธรรมญี่ปุ่นโดยตรงที่มหาวิทยาลัยศิลปากร ชื่อวิชา “บทความคัดสรรวัฒนธรรมญี่ปุ่น” เป็นรายวิชาที่ถ่ายทอดความรู้ทางสังคมวัฒนธรรมพร้อมกับพัฒนาทักษะการอ่านภาษาญี่ปุ่นให้แก่ผู้เรียน วิทยากรซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบรายวิชาคัดเลือกบทความที่น่าสนใจจากแหล่งข้อมูลหลากหลาย อาทิ ตำรา 日本事情入門 ตำรา 日本で暮らすของสำนักพิมพ์ アルクเป็นต้น รวมเป็นเล่ม เนื้อหามีตั้งแต่ส่วนที่เป็นวัฒนธรรมใกล้ตัว เช่น ส่วนที่เกี่ยวข้องกับสำนวนภาษาการกล่าวทักทาย ธรรมเนียมประเพณีในรอบปี การเมือง ศาสนา ประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ สภาพการศึกษา เทคโนโลยี โดยกิจกรรมในแต่ละสัปดาห์นอกเหนือจากการอ่านบทความแล้วยังมีส่วนรายงานหน้าชั้นในหัวข้อที่น่าสนใจต่างๆ ผู้สอนมีเป้าหมายให้ผู้เรียนมีความรู้รอบเกี่ยวกับญี่ปุ่น และฝึกทักษะการเชื่อมโยงต่อยอดมากกว่าการให้ข้อมูลเชิงลึก ตัวอย่างเช่น การนำเสนอรายงานหัวข้อทางวัฒนธรรมเรื่องกระดาษญี่ปุ่น นักศึกษาต้องหาข้อมูลเอกลักษณ์เฉพาะของกระดาษญี่ปุ่น คำศัพท์ที่เกี่ยวข้อง การปรียบเทียบกับกระดาษสาของไทย วัฒนธรรมการพับกระดาษ การพับนก
วิทยากรพูดถึงความยากของการสอนวิชานี้ในด้านวิธีการสอนที่จะจูงใจให้นักศึกษาสนใจวิชาเรียนที่มีเนื้อหามากเช่นนี้ นอกเหนือจากการให้นักศึกษานำเสนองาน วิทยากรยังใช้เทคนิคต่างๆ ประกอบการสอน เช่น การให้นักศึกษาเล่มเกมบัตรคำที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ ให้นักศึกษาแสดงละครที่มีเนื้อเรื่องเกี่ยวข้องกับเนื้อหาที่เรียน การแข่งขันตอบคำถาม กิจกรรมต่างๆ เหล่านี้ล้วนช่วยกระตุ้นให้ผู้เรียนรู้สึกผ่อนคลาย กระตือรือร้นต่อการเรียนและการค้นคว้าหาความรู้เพิ่มเติมด้วยตนเองมากขึ้น
- การบรรยายพิเศษเรื่อง “การสอนสังคมวัฒนธรรมญี่ปุ่นเชิงประวัติศาสตร์” โดย รศ.วีรวรรณ วชิรดิลก
วิทยากรเริ่มการบรรยายด้วยการให้ผู้เข้าร่วมสัมมนาลองเขียนชื่อคนญี่ปุ่นที่ตนเองรู้จัก และให้ข้อมูลเกี่ยวกับผลการสำรวจชื่อคนญี่ปุ่นที่คนต่างชาติรู้จักโดยสถาบันวิจัยสื่อมวลชนประเทศญี่ปุ่น ทำให้ตระหนักได้ว่าคนไทยโดยส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับญี่ปุ่นในแง่ประวัติศาสตร์น้อยมาก รายวิชาที่ผู้บรรยายรับผิดชอบสอนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์แม้ว่าจะเป็นรายวิชาสังคมวัฒนธรรมญี่ปุ่น แต่เพื่อให้ผู้เรียนเข้าใจความเป็นมา วิธีคิด วิธีปฏิบัติตามแบบญี่ปุ่นได้อย่างลึกซึ้งและถ่องแท้ วิทยากรจึงสอนโดยให้ความสำคัญกับประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ พัฒนาการทางสังคม เศรษฐกิจ การเมือง และเหตุการณ์ความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ทางสังคม เศรษฐกิจ การเมืองเป็นสำคัญ เนื้อหาการเรียนการสอนมุ่งให้ผู้เรียนเกิดภาพเชื่อมโยง โดยเริ่มตั้งแต่ยุคดึกดำบรรพ์ ยุคโบราณ ยุคกลาง ยุคสมัยใหม่ เรื่อยมาจนถึงยุคปัจจุบัน นอกจากนี้ ยังเพิ่มเติมเนื้อหาวัฒนธรรมที่นับเป็นหัวใจสำคัญของวัฒนธรรมญี่ปุ่น ได้แก่ วัฒนธรรมข้าว วัฒนธรรมการดื่มชา วัฒนธรรมกลุ่ม ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ชินโตและศาสนาพุทธด้วย
ในช่วงท้าย วิทยากรกล่าวถึงข้อความที่ปรากฏในหนังสือกุญแจ 77 ดอกสู่อารยธรรมญี่ปุ่น (หน้า247) เนื้อความว่า “ญี่ปุ่นมีธรรมชาติอันงดงามภายใต้ภูมิอากาศในเขตอบอุ่น ความงดงามเหล่านี้ดำรงอยู่บนผืนแผ่นดินที่ขาดความเที่ยงแท้แน่นอน คนญี่ปุ่นตกอยู่ในชะตากรรมที่มิอาจจะหลับสนิทพักกายและใจอย่างสงบในสวนดอกไม้อันงดงามได้” แม้เนื้อหารายวิชาที่สอนจะมีมากและอาจจะไม่สนุก แต่หากผู้เรียนทำความเข้าใจภูมิศาสตร์ประวัติศาสตร์ มองเห็นความเชื่อมโยง ผู้เรียนก็จะสามารถนำความรู้ที่ได้จากรายวิชานี้ไปประยุกต์ใช้ได้อีกมากมาย รวมถึงเข้าใจความสวยงามที่กล่าวถึงในข้อความที่ยกมานี้ดังเช่นตัววิทยากร
- การสัมมนาหัวข้อ “สอนไวยากรณ์อย่างไรให้ใช้เป็น” ช่วงที่ 1 โดย ผศ.ดร.พัชราพร แก้วกฤษฎางค์
วิทยากรเริ่มต้นด้วยการให้ผู้เข้าร่วมสัมมนาวิเคราะห์ตนเองก่อนว่าตามความเข้าใจการสอนไวยากรณ์ คือ การสอนอะไร สอนใคร และสอนเพื่ออะไร และให้ข้อมูลว่าการสอนไวยากรณ์ คือ การสอนกฎ เพื่อให้รู้กฎและนำไปใช้ในการสื่อสารให้ถูกต้องและเหมาะสมกับบริบท ซึ่งบางครั้งจะเห็นว่าบางประโยคบางข้อความที่ผู้เรียนใช้อาจจะถูกต้องตามไวยากรณ์ แต่เจ้าของภาษาอาจไม่พูดหรือเขียนประโยคแบบนั้น การสอนไวยากรณ์จึงไม่ควรเป็นเพียงการอธิบายหลักการใช้ รูปการผัน และตัวอย่างในระดับประโยคเท่านั้น เนื่องจากอาจไม่สอดคล้องกับการใช้จริง ควรเสริมการฝึกฟังฝึกพูดในระดับข้อความหรือบทสนทนาเพื่อให้ผู้เรียนเข้าใจบริบทการใช้จริงได้อย่างถูกต้อง การฝึกเพียงให้เขียนประโยคตามคำบอกหรือฟังบทสนทนาแล้วตอบคำถามจะไม่สามารถกระตุ้นทักษะการใช้ไวยากรณ์ของผู้เรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ การประเมินผลก็เช่นเดียวกัน ควรเปลี่ยนจากการให้เติมคำ ผันรูปไวยากรณ์ในช่องว่างเป็นการตั้งโจทย์แบบเปิดกว้างให้ผู้เรียนคิดและเลือกใช้ประโยคเพื่อการสื่อสารที่เหมาะสมด้วยตนเอง นอกจากนี้การเสริมความรู้เรื่องลำดับการพูด ภาษาสุภาพ สำนวนต่างๆ ที่ช่วยให้การสนทนาราบรื่นก็เป็นสิ่งสำคัญเช่นกัน
- การสัมมนาหัวข้อ “สอนไวยากรณ์อย่างไรให้ใช้เป็น” ช่วงที่ 2 โดย ผศ.ดร. เตวิช เสวตไอยาราม
วิทยากรเริ่มต้นด้วยการให้ผู้เข้าร่วมสัมมนาคิดวิเคราะห์ปัญหาที่ทำให้ผู้เรียนใช้ไวยากรณ์ไม่เป็น ซึ่งประเด็นสำคัญส่วนหนึ่งก็คือตัวผู้สอนเอง การสอนไวยากรณ์ให้ใช้เป็น ตัวผู้สอนต้องรู้ด้วยว่าผู้สอนจะสอนอะไร สอนใคร และสอนเมื่อไร ไวยากรณ์บางอย่างมีลำดับการเรียนรู้ หมายความว่าไวยากรณ์บางหัวข้อนั้นต่อให้สอนในตอนต้นก็ยากที่ผู้เรียนจะทำความเข้าใจและใช้เป็นได้เมื่อเทียบกับไวยากรณ์อีกหัวข้อหนึ่ง วิทยากรนำเสนอเรื่องการสอนแบบ focus on form ซึ่งเน้นให้ผู้เรียนทำกิจกรรมหรือ task บางอย่าง เพื่อผู้เรียนจะได้เกิดการสังเกต เชื่อมโยงความรู้ไวยากรณ์หัวข้อที่เรียนเข้ากับความหมายและวิธีการใช้ผ่านประสบการณ์การทำกิจกรรมด้วยตนเอง วิทยากรยกตัวอย่างงานวิจัยของนักศึกษาที่สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ เรื่องการสอนการอธิบายเส้นทางโดยใช้รูปประโยค てください สอนด้วยวิธีจัดการเรียนรู้แบบเน้นงานปฏิบัติ (Task-based Language Learning) ลำดับการสอนวิธีนี้โดยคร่าวคือ ผู้สอนให้ผู้เรียนทำกิจกรรมอธิบายเส้นทางจากแผนที่ที่มีให้ จากนั้นให้ฟังบทสนทนาที่ใช้ในการอธิบายเส้นทาง ให้ผู้เรียนเปรียบเทียบภาษาที่ตนใช้กับภาษาที่ได้ฟังในบทสนทนาเพื่อให้ผู้เรียนตระหนักรู้ แล้วจึงให้ผู้เรียนทำกิจกรรมอธิบายเส้นทางอีกครั้ง
กรณีการสอนไวยากรณ์ เพื่อให้ผู้เรียนเกิดการสังเกต สามารถทำได้หลายวิธี เช่น การใช้สีหรือขนาดของตัวอักษรเพื่อเน้นจุดที่สำคัญของประโยค หลังจากผู้เรียนตระหนักรู้แล้วก็ใช้สื่อต่างๆ ประกอบ การเรียนเพื่อให้ผู้เรียนได้เห็นหรือฟังสถานการณ์การใช้จริง อย่างไรก็ตาม การสอนในแนวนี้มีข้อจำกัดคือ ต้องใช้เวลาในการเตรียมการสอนมาก เนื่องจากต้องใช้เวลาเพื่อหาสื่อที่เหมาะสม และใช้เวลาในการสอนมาก ซึ่งจะทำให้ไม่สามารถสอนหัวข้อไวยากรณ์ได้ครบตามที่กำหนด ในตอนท้ายวิทยากรแนะนำหนังสือและบทความวิชาการต่างๆ และเทคนิคที่เป็นประโยชน์แก่ผู้เข้าร่วมการสัมมนาเพื่อให้มีความมั่นใจในการสอนไวยากรณ์ยิ่งขึ้น
- การประเมินผลการดำเนินงานสัมมนา
การประเมินผลระดับความพึงพอใจต่อการดำเนินงานใน 5 ด้านโดยใช้แบบสอบถามซึ่งแบ่งระดับคะแนนเป็น 5 ระดับ คือ มากที่สุด มาก ปานกลาง น้อย และ น้อยที่สุด ผู้เข้าร่วมงานรวม 90 คน ตอบแบบสอบถาม 51 คน คิดเป็น 56.7%
ส่วนที่ 1 : ความพึงพอใจการสัมมนา
หัวข้อ | ค่าเฉลี่ย | |
1. ความเหมาะสมของวันเวลาที่จัด | 4.53 | ดีมาก |
2. ความเหมาะสมของเวลาสัมมนา | 4.45 | ดี |
3. ความเหมาะสมของสถานที่ | 4.46 | ดี |
4. ความเหมาะสมของเนื้อหา 4.1.การสอนสังคมและวัฒนธรรมญี่ปุ่น 4.2.การสอนไวยากรณ์ |
4.45 4.37 |
ดี ดี |
5. ประโยชน์ที่ได้รับ 5.1.การสอนสังคมและวัฒนธรรมญี่ปุ่น 5.2.การสอนไวยากรณ์ |
4.51 4.36 |
ดีมาก ดี |
ภาพรวม | 4.45 | ดี |
ส่วนที่ 2 : ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการสัมมนาครั้งนี้
2.1 วิทยากร มีความเชี่ยวชาญ มีความรู้เกี่ยวกับเรื่องที่บรรยายดีมาก บรรยายได้ดี สนุกมากสามารถนำความรู้ที่ได้ไปประยุกต์ใช้กับนักเรียนได้
2.2 เนื้อหา ช่วงเช้าเนื้อหาน่าสนใจ เรื่อง ไวยากรณ์ยากมาก ช่วงสุดท้ายบรรยายได้สนุก เห็นภาพ
2.3 ประโยชน์ ได้รับความรู้และประสบการณ์การสอนที่หลากหลาย สามารถนำไปสอนในรายวิชาวัฒนธรรมญี่ปุ่น สังคมวัฒนธรรมญี่ปุ่น ได้สำรวจมองย้อนตนเองเกี่ยวกับวิธีการสอนไวยากรณ์ของตน ได้ไอเดียในการจัดการเรียนการสอนภาษาญี่ปุ่นในชั้นเรียน และการจัดหาสื่อที่เหมาะสมกับผู้เรียน แม้บางหัวข้อจะไม่ตรงกับอาจารย์ที่สอนระดับชั้นมัธยมเท่าไหร่นัก แต่โดยภาพรวมได้รับประโยชน์จากการสัมมนาครั้งนี้มาก
2.4 สถานที่ ห้องบรรยายเป็นแบบสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีความยาวมาก ทำให้มองไม่ค่อยเห็นวิทยากรและมองจอภาพสไลด์ได้ยาก ปวดตาและเมื่อย ภาพสไลด์เมื่อฉายบนจอภาพมีขนาดเล็กไป บรรยากาศในห้องมืดและอึมครึมทำให้รู้สึกอึดอัด ไมค์บางครั้งมีเสียงเบา
2.5 เอกสาร อยากให้แจกกระดาษเปล่าเพื่อใช้จดในการสัมมนา และอยากให้แจกเอกสารประกอบการบรรยายเพราะบางครั้งจดไม่ทัน
2.6 อื่นๆ อยากให้มีการอบรมบ่อยกว่านี้ควรจะอบรมมากกว่า 1 ครั้งต่อปี เพราะมีประโยชน์ต่อครูสอนภาษาญี่ปุ่น อยากให้แนะนำชื่อหนังสือ หรือเว็บไซต์ หรือ ยูทูปที่วิทยากรใช้ในการบรรยาย รวมถึงอยากได้อีเมล์ของวิทยากรเพื่อประโยชน์ในการขอคำแนะนำ ปรึกษาในลำดับต่อไป ตลออดจนอยากให้แนะนำวิธีการสอนไวยากรณ์ว่าจะสอนอย่างไรและสามารถนำมาใช้ในชีวิตประจำวันได้
ส่วนที่ 3 : ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับหัวข้อการสัมมนาครั้งต่อไป
3.1 ด้านวิธีการสอน อาทิ การสอนแบบโครงงาน (Project-based learning) เทคนิคการสอนคันจิ และการสอนคันจิขั้นพื้นฐาน วิธีการสอนภาษาญี่ปุ่นที่หลากหลาย สอนอย่างไรไม่ให้น่าเบื่อ
3.2 ด้านไวยากรณ์ ไวยากรณ์ชั้นต้นที่ยากและจำเป็นสำหรับการเรียนการสอน ไวยากรณ์ชั้นกลาง (แนะนำวิธีการสอน เอกสาร ตำราที่ใช้)
3.3 ด้านการจัดทำสื่อการสอน อาทิ สื่อการสอนสำหรับนักเรียนมัธยม สื่อการสอนวิชาวัฒนธรรมญี่ปุ่น การประดิษฐ์สิ่งของของญี่ปุ่น วิธีการทำอาหารญี่ปุ่น
3.4 ด้านทักษะการใช้ภาษาญี่ปุ่น อาทิ การอ่าน การพูด การฟัง การเขียน การแปล และล่าม
3.5 อื่นๆ หัวข้อที่เหมาะสมกับครูมัธยม หรือหัวข้อแบบเดิมแต่มีการนำเสนอประสบการณ์ของวิทยากรที่หลากหลายมากขึ้น เนื่องจากเวลาจำกัดทำให้ได้แนวทางการจัดการเรียนการสอนที่จำกัด นอกจากนี้ อยากให้เพิ่มหัวข้อเกี่ยวกับการติวเพื่อสอบเข้ามหาวิทยาลัย
ส่วนที่ 4 : วิทยากรสำหรับครั้งต่อไป
4.1 ชาวไทย อาทิ อาจารย์ประภา แสงทองสุข อาจารย์นพวรรณ บุญสม อาจารย์อัจฉรา โหตระภานนท์ หรืออาจารย์มหาวิทยาลัยที่สอนวิชาไวยากรณ์สำหรับนักศึกษามหาวิทยาลัยชั้นปีที่ 1 สำหรับนักศึกษาที่มีพื้นความรู้ภาษาญี่ปุ่นมาแล้วจากตอนเรียนชั้นมัธยม
4.2 ชาวญี่ปุ่น
สรุป โดย อ.ดร.ภรณีย์ พินันโสตติกุล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
การประเมินผลการดำเนินงานสัมมนา โดย อ.ดร.ไอลดา ศราทธทัต มหาวิทยาลัยราชภัฎเทพสตรี