JFF2022slide
สมาคมครูภาษา
และวัฒนธรรมญี่ปุ่นแห่งประเทศไทย

タイ国日本語日本文化教師協会
Japanese Language and Culture Teachers Association of Thailand (JTAT)

สรุปงานสัมมนาสมาคมครูภาษาและวัฒนธรรมญี่ปุ่นแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 18 เรื่อง Next World กับการเรียนการสอนที่ถูกปฏิวัติ

สมาคมครูภาษาและวัฒนธรรมญี่ปุ่นแห่งประเทศไทยร่วมกับเจแปนฟาวน์เดชั่น กรุงเทพฯ ได้จัดสัมมนาประจำปีครั้งที่ 18 เมื่อวันศุกร์ที่ 29 พฤษภาคม 2558 เวลา 08:30-15:00 น. ณ ห้องประชุม เจแปนฟาวน์เดชั่น กรุงเทพฯ ในหัวข้อ “ไปอยู่ญี่ปุ่นดีไหม” และ “Next World กับการเรียนการสอนที่ถูกปฏิวัติ” โดยงานในครั้งนี้แบ่งเป็น 3 ช่วงคือ ช่วงที่หนึ่ง การบรรยายพิเศษเรื่อง “ไปอยู่ญี่ปุ่นดีไหม” โดย คุณสิงห์ทอง ลาภพิเศษพันธุ์ รองอธิบดีกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ

ช่วงที่สอง การสัมมนาในหัวข้อ “Next World กับการเรียนการสอนที่ถูกปฏิวัติ” โดย รศ.วรินทร วูวงศ์ และ รศ.ดร.สุณีย์รัตน์ เนียรเจริญสุข ภาควิชาภาษาญี่ปุ่น มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ช่วงที่สาม พิธีมอบรางวัลและการนำเสนอผลงาน “โครงการประกวดหนังสั้นภาษาญี่ปุ่น” ครั้งที่ 1 (JTAT Short Film Contest 2015) ของนักเรียน นิสิต นักศึกษาที่ส่งเข้าประกวด

ซึ่งในงานสัมมนาครั้งนี้มีผู้ลงทะเบียนเข้าร่วมทั้งสิ้น 38 คน รายละเอียดการสัมมนามีดังนี้

  1. การบรรยายพิเศษเรื่อง “ไปอยู่ญี่ปุ่นดีไหม” โดยคุณสิงห์ทอง ลาภพิเศษพันธุ์ รองอธิบดีกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ

    วิทยากรกล่าวถึงนโยบายยกเว้นวีซ่าสำหรับนักท่องเที่ยวชาวไทยในการเดินทางไปประเทศญี่ปุ่นว่าทำให้เกิดปรากฎการณ์คนไทยนิยมไปท่องเที่ยวในประเทศญี่ปุ่นกันมากขึ้นจนจำนวนนักท่องเที่ยวชาวไทยที่เดินทางไปท่องเที่ยวในประเทศญี่ปุ่นนั้นใกล้เคียงกับจำนวนนักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่นที่เดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศไทยในแต่ละปี ความนิยมของนักท่องเที่ยวชาวไทยที่เดินทางไปเที่ยวญี่ปุ่นดังกล่าวนั้น ส่งผลให้คนไทยบางกลุ่มลักลอบเดินทางเข้าไปทำงานในญี่ปุ่นอย่างผิดกฎหมายเนื่องจากมีรายได้ที่สูงกว่าประเทศไทยเพื่อส่งเงินกลับไปให้ครอบครัว การใช้ชีวิตของแรงงานที่ผิดกฎหมายดังกล่าวนั้นในความเป็นจริงไม่เป็นดังที่คาดหวังและค่อนข้างลำบาก คนที่เสียชีวิตในญี่ปุ่นก็มีมาก ทั้งนี้ วิทยากรได้แนะนำแนวทางในการใช้ชีวิตในประเทศญี่ปุ่นไม่ว่าจะในฐานะของนักศึกษา ผู้ใช้แรงงาน หรือแม่บ้านชาวไทยที่ติดตามสามีชาวญี่ปุ่น ว่ามีข้อดีและข้อเสียอย่างไรบ้างโดยมีการหยิบยกตัวอย่างจากประสบการณ์ตรงทั้งที่เคยเป็นนักศึกษาและประสบการณ์ในการทำงานในฐานะอัครราชทูตไทย ประจำกรุงโตเกียวตลอดเวลาเกือบ 20 ปี วิทยากรกล่าวถึงข้อดีว่า ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีระบบระเบียบสูง มีรายได้ดี มีความเตรียมพร้อมด้านการรับมือต่อภัยพิบัติเป็นอย่างดี ส่วนข้อเสียนั้น ประเทศญี่ปุ่นมีค่าครองชีพและอัตราภาษีที่สูง กฎหมายเข้มงวด ระเบียบข้อบังคับมีมาก สภาพอากาศที่แตกต่าง ภัยพิบัติทางธรรมชาติที่รุนแรง วิถีชีวิตที่เร่งรีบ ค่านิยมเฉพาะทางด้านสังคมในเรื่อง “สังคมคนในกลุ่ม” และ “สังคมคนนอกกลุ่ม” ทำให้คนญี่ปุ่นยังไม่ค่อยเปิดใจรับคนต่างชาติเข้ากลุ่มได้โดยง่าย ส่งผลต่อเรื่องการปรับตัวเมื่อต้องใช้ชีวิตจริงในสังคมญี่ปุ่น รวมถึงความแตกต่างทางด้านวัฒนธรรมอื่น ๆ อีกด้วย จากข้อเสียดังกล่าวส่งผลทำให้การไปใช้ชีวิตในระยะยาวในประเทศญี่ปุ่นอาจไม่ได้สะดวกสบายเหมือนอย่างที่คิด ไม่ว่าจะเข้าไปพักอยู่ในฐานะใดก็ตาม อาจกล่าวโดยสรุปได้ว่า ในการเข้าไปใช้ชีวิตหรือไปทำงานที่ประเทศญี่ปุ่นนั้น ถ้าเป็นระยะสั้นและเป็นแรงงานคุณภาพที่ถูกกฎหมายอาจจะพบปัญหาค่อนข้างน้อย แต่ถ้าไปใช้ชีวิตระยะยาวและเดินทางไปทำงานผิดกฎหมายนั้นค่อนข้างจะใช้ชีวิตอย่างลำบาก อย่างไรก็ตาม การใช้ชีวิตในประเทศญี่ปุ่นนั้นจะประสบความสำเร็จหรือมีความสุขได้หรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับการปรับตัวและพื้นฐานความคิดซึ่งแตกต่างไปตามบริบทของแต่ละบุคคล
  1. การสัมมนาในหัวข้อ “Next World กับการเรียนการสอนที่ถูกปฏิวัติ” ช่วงที่หนึ่งโดย รศ.วรินทร วูวงศ์ และช่วงที่สองโดย รศ.ดร.สุณีย์รัตน์ เนียรเจริญสุข อาจารย์ภาควิชาภาษาญี่ปุ่น มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

    วิทยากรในช่วงแรก กล่าวถึงความเปลี่ยนแปลงทางด้านการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศที่ทันสมัยของสังคมโลกในอนาคตในช่วงนับต่อจากนี้ไปจนถึงอีกสามสิบปีข้างหน้า (ค.ศ.2015-2045) โดยกล่าวถึง 3 เรื่อง คือ “ปัญญาประดิษฐ์” “ยารักษามะเร็งเพื่อยืดอายุขัยของมนุษย์ให้ยาวนานขึ้นโดยใช้สาร NMN” และ “การรวมพลังระหว่างมนุษย์กับหุ่นยนต์”เป็นการพัฒนาหุ่นยนต์ Android ที่มีอารมณ์ความรู้สึกใกล้เคียงกับมนุษย์และหุ่นยนต์จะทำหน้าที่เสมือนเป็นตัวแทนของมนุษย์ได้ อย่างไรก็ตาม ในช่วงนี้วิทยากรได้เน้นในเรื่องปัญญาประดิษฐ์ซึ่งเทคโนโลยีดังกล่าวจะส่งผลต่อรูปแบบกิจกรรมการเรียนรู้ของมนุษย์ในอนาคตอันใกล้สรุปความโดยสังเขปได้ดังนี้

    ปัญญาประดิษฐ์ (Intelligence) หมายถึงการที่ศูนย์ข้อมูลสารสนเทศขนาดใหญ่ (Big Data) ซึ่งทำหน้าที่ในการเก็บรวบรวมข้อมูล(Information)จำนวนมากจากทั่วโลกจนสามารถที่จะประมวลผลข้อมูลในด้านต่าง ๆ ของมนุษย์ทั้งข้อมูลส่วนบุคคล ข้อมูลส่วนรวม ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลที่เป็นตัวอักษร สถิติ รูปภาพ วิดิทัศน์ รวมถึงด้านความคิด อารมณ์ความรู้สึกของมนุษย์ให้สามารถคำนวณและแปลผลออกมาเป็นค่าทางสถิติหรือออกมาในรูปแบบของสูตรต่าง ๆ แล้วนำไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์หรือในการพัฒนาด้านอื่น ๆ ต่อไปอีกได้ ความฉลาดในการวิเคราะห์ ประมวลผลข้อมูลสารสนเทศดังกล่าวนั้นจะปรากฏในรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อวิถีการดำรงชีวิตของมนุษย์โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะส่งผลต่อรูปแบบการเรียนรู้ของมนุษย์ในอนาคตอันใกล้ให้เป็นการเรียนรู้แบบปัจเจกบุคคล(Personalized Learning)ที่สามารถเข้าถึงข้อมูลสารสนเทศได้ตลอดเวลาโดยผ่านการออนไลน์จากสมาร์ทโฟน ดังนั้น กระบวนการเรียนรู้ของมนุษย์โลกในอนาคตจึงไม่จำกัดอยู่เฉพาะแต่ห้องเรียนอีกต่อไป การเข้าถึงข้อมูลสารสนเทศได้โดยง่ายยังเปิดโอกาสให้บุคคลทั่วไปสามารถเลือกเรียนรู้ในสิ่งที่ตัวเองสนใจได้โดยตรงมากยิ่งขึ้น ปรากฏการณ์ดังกล่าวนั้นส่งผลให้วงการศึกษาทั่วโลกจำต้องมีการปรับตัวครั้งใหญ่ เนื่องจากผู้สอนและผู้เรียนสามารถเข้าถึงข้อมูลทางอินเตอร์เน็ตด้วยตนเองได้ตลอดเวลา อาทิ ปัจจุบันการเรียนรู้ผ่านข้อมูลสารสนเทศในประเทศสหรัฐอเมริกานั้นมีการคิดค้นนวัตกรรมการจัดการเรียนการสอนผ่านคอร์สออนไลน์สำหรับการเรียนรู้ของบุคคลทั่วไปที่เรียกว่า Massive Open Online Course (MOOC) โดยมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกหลายแห่งได้จัดทำช่องทางในการเรียนรู้ในรูปแบบ MOOC ซึ่งเป็นการให้ศึกษาตามความสนใจส่วนบุคคลโดยผ่านเทคโนโลยีสารสนเทศและนำไปผลิตนวัตกรรมการจัดเรียนการสอนที่ทันสมัยเพื่อตอบสนองความต้องการของคนหมู่มากทำให้บุคคลทั่วไปสามารถเข้าถึงการศึกษาได้โดยผ่านช่องทางออนไลน์ที่เปิดประตูการเรียนรู้ของตนเองสู่สังคมโลกภายนอกได้โดยง่าย แหล่งเรียนรู้ในรูปแบบ MOOC อาทิ coursera นั้นได้เปิดโอกาสให้ผู้คนทั่วโลกสามารถเข้าไปลงทะเบียนเรียนคอร์สต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัยชั้นนำหลายแห่งผ่านทางเว็บไซต์โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ผู้เรียนสามารถเลือกลงทะเบียนและรับชมวิดีทัศน์การบรรยายในรายวิชาที่ตัวเองสนใจโดยมีคณาจารย์จากมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงจากทั่วโลกมาเป็นผู้สอน และเมื่อเรียนจบคอร์ส บางรายวิชาผู้เรียนจะสามารถขอรับใบประกาศนียบัตรได้ ปัจจุบันมหาวิทยาลัยในประเทศญี่ปุ่นก็มีการจัดทำคอร์สออนไลน์เปิดเป็นแหล่งเรียนรู้ที่เรียกว่า JMOOC มหาวิทยาลัยในประเทศไทยเองก็เริ่มมีการนำระบบการศึกษาโดยผ่านการออนไลน์มาใช้บ้างแล้ว เช่น มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยเอกชนอีกหลายแห่ง

    อาจกล่าวได้ว่า บทบาทการจัดการเรียนรู้ของมหาวิทยาลัยในฐานะสถาบันการเรียนรู้ในโลกอนาคตอันใกล้นี้จำต้องปรับเปลี่ยนขยายบทบาทของตนเองให้เปิดกว้างมากยิ่งขึ้นเพื่อตอบสนองรูปแบบการเรียนรู้แบบใหม่ผ่านทางเทคโนโลยีสารสนเทศตามกระแสของสังคมโลก กล่าวคือ นอกเหนือจากการจัดการเรียนการสอนในชั้นเรียนสำหรับนักศึกษาทั่วไปแล้วนั้น ยังจำเป็นที่จะต้องเพิ่มการจัดการเรียนรู้แบบคอร์สออนไลน์เพื่อขยายโอกาสในการเรียนรู้สำหรับบุคคลทั่วไปในวงกว้างเพื่อที่จะสามารถให้ผู้สนใจสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเองโดยผ่านเทคโนโลยีสารสนเทศได้อีกด้วย นอกจากนี้ บทบาทของอาจารย์ผู้สอนเองจำเป็นจะต้องเปลี่ยนแปลงให้มีความทันสมัยสอดคล้องกับกระแสสังคมโลกในอนาคตซึ่งผู้คนสามารถเข้าถึงข้อมูลสารสนเทศต่าง ๆ ได้โดยง่ายนี้ด้วยเช่นเดียวกัน โดยผู้สอนจะต้องมีสองบทบาท กล่าวคือ ผู้สอนในฐานะที่เป็นผู้เรียนเพื่อขวนขวายหาความรู้ต่าง ๆ เพิ่มเติมผ่านการเรียนรู้จากการสอนออนไลน์ของมหาวิทยาลัยชั้นนำต่าง ๆ ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ดังนั้น หากผู้สอนมีความสามารถทางด้านการใช้ภาษาได้หลายภาษา อาทิ ภาษาอังกฤษ ภาษาญี่ปุ่น จะยิ่งสามารถเพิ่มโอกาสในการสร้างเสริมความรู้ของตนเพื่อนำมาใช้สอนผู้เรียนในห้องเรียนของตนได้มากมาย หลากหลายวิธีการ และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ อีกบทบาทหนึ่งของตัวผู้สอนเองจำต้องปรับเปลี่ยนให้เป็นผู้ออกแบบ คิดค้นนวัตกรรมรูปแบบการจัดการเรียนสอนโดยผ่านช่องทางการออนไลน์เพื่อตอบสนองความต้องการการเรียนรู้ส่วนบุคคลของคนในหมู่มากด้วยเช่นเดียวกัน

    สำหรับวิทยากรในช่วงที่สองนั้น ได้กล่าวต่อยอดอธิบายและหยิบยกตัวอย่างอย่างเป็นรูปธรรมถึงความน่าสนใจและการใช้ประโยชน์จากการเรียนรู้ผ่านคอร์สออนไลน์ต่าง ๆ จากประสบการณ์ตรง หลังจากได้ทดลองเข้าไปใช้บริการแหล่งการเรียนรู้ออนไลน์ในรูปแบบ MOOC ของประเทศสหรัฐอเมริกา และ JMOOC ของประเทศญี่ปุ่น รวมถึงการนำแนวคิดมาจัดทำการศึกษาออนไลน์ใน “โครงการตลาดวิชาธรรมศาสตร์” ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้บุคคลทั่วไปได้เรียนรู้ผ่านคอร์สออนไลน์ ซึ่งในขณะนี้เปิดให้บริการในเว็บไซต์แล้วรวม 8 รายวิชา ทั้งวิชาในสายวิทยาศาสตร์และสายสังคมศาสตร์ นอกจากนี้ ยังได้หยิบยกแนวคิด วัตถุประสงค์ และขั้นตอนในการผลิตนวัตกรรมการเรียนรู้ผ่านคอร์ส ออนไลน์ในรายวิชา “ภาษาญี่ปุ่น” ขึ้นมาให้ดูเป็นตัวอย่างอีกด้วย
  1. พิธีมอบรางวัลและการนำเสนอผลงาน “โครงการประกวดหนังสั้นภาษาญี่ปุ่น” ครั้งที่ 1 (JTAT Short Film Contest 2015) ของนักเรียน นิสิต นักศึกษาที่ส่งเข้าประกวด

    “โครงการประกวดหนังสั้นภาษาญี่ปุ่น” ครั้งที่ 1 (JTAT Short Film Contest 2015) มีวัตถุประสงค์เพื่อเปิดโอกาสให้นักเรียน นิสิต นักศึกษาที่ศึกษาภาษาญี่ปุ่นในสถาบันต่างๆ โดยเฉพาะจากภูมิภาคได้มีส่วนร่วมในการแสดงความสามารถทางภาษาญี่ปุ่นมากขึ้น และเพื่อให้เกิดความตื่นตัวและรู้สึกสนุกสนานกับการเรียนภาษาญี่ปุ่น เกณฑ์การตัดสิน ได้แก่

    1) ความสามารถภาษาญี่ปุ่น
    2) ความสามารถด้านการแสดง
    3) เนื้อหาสอดคล้องกับหัวข้อ
    4) ความคิดสร้างสรรค์

    ระดับมัธยมศึกษา  
    รางวัลที่หนึ่ง โรงเรียนราชวินิตบางเขน ผลงานเรื่อง「ゆうじょうとは」
    รางวัลที่สอง โรงเรียนจอมสุรางค์อุปถัมภ์ ผลงานเรื่อง「完璧」
    รางวัลที่สาม โรงเรียนตาคลีประชาสรรค์ ผลงานเรื่อง「夢」
    ระดับอุดมศึกษา
    รางวัลที่หนึ่ง มหาวิทยาลัยรามคำแหง ผลงานเรื่อง「友達」
    รางวัลที่สอง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผลงานเรื่อง「さようなら、空想の絆」
    รางวัลที่สาม มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ผลงานเรื่อง「心覚え」
    รางวัลชมเชย มหาวิทยาสุโขทัยธรรมาธิราช ผลงานเรื่อง「ともだち」
    รางวัลชมเชย มหาวิทยาลัยสยาม ผลงานเรื่อง「友達?」
    อนึ่ง ผู้ที่สนใจชมผลงานหนังสั้นที่ส่งเข้าประกวด สามารถรับชมได้ผ่านทางเว็บไซต์ของ “สมาคมครูภาษาและวัฒนธรรมญี่ปุ่นในประเทศไทย”
  1. การประเมินผลการดำเนินงานสัมมนา

    งานสัมมนาประจำปีครั้งที่ 18 นี้ได้มีการประเมินผลระดับความพึงพอใจต่อการดำเนินงานใน 5 ด้านโดยใช้แบบสอบถามซึ่งแบ่งระดับคะแนนเป็น 5 ระดับ คือ มากที่สุด มาก ปานกลาง น้อย และ น้อยที่สุด ได้รับแบบสอบถามคืนจำนวน 26 ชุดจากผู้เข้าร่วมจำนวน 38 คน คิดเป็นร้อยละ 68.42 สรุปผลความพึงพอใจที่มีต่องานสัมมนาในภาพรวม คิดเป็นค่าเฉลี่ย 4.59 (มากที่สุด) รายละเอียดดูในตารางด้านล่าง

    หัวข้อการประเมิน จำนวนคน ค่าเฉลี่ย แปลผลความพึงพอใจ
    1. ความเหมาะสมของวันเวลาที่จัด 25 4.36 มาก
    2. ความเหมาะสมของเวลาในการสัมมนา 26 4.54 มากที่สุด
    3. ความเหมาะสมของสถานที่ 26 4.69 มากที่สุด
    4. ความเหมาะสมของเนื้อหา
    4.1 ไปอยู่ญี่ปุ่นดีไหม
    25 4.44 มาก
    4.2 Next World กับการเรียนการสอนที่
    ถูกปฏิวัติ ช่วงที่ 1
    26 4.69 มากที่สุด
    4.3 Next World กับการเรียนการสอนที่
    ถูกปฏิวัติ ช่วงที่ 2
    26 4.73 มากที่สุด
    5. ประโยชน์ที่ได้รับ
    5.1 ไปอยู่ญี่ปุ่นดีไหม
    25 4.36 มาก
    5.2 Next World กับการเรียนการสอนที่
    ถูกปฏิวัติ ช่วงที่ 1
    25 4.72 มากที่สุด
    5.3 Next World กับการเรียนการสอนที่
    ถูกปฏิวัติ ช่วงที่ 2
    25 4.80 มากที่สุด
    รวมค่าเฉลี่ยทั้งหมด   4.59 มากที่สุด

ข้อคิดเห็นอื่นๆ เกี่ยวกับงานสัมมนาครั้งนี้ สรุปได้ดังนี้

  1. บรรยากาศเป็นกันเอง เนื้อหาน่าสนใจ มีประโยชน์มาก มีความเข้าใจที่ชัดเจน สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้จริง
  2. ได้รับความรู้ใหม่ ได้รับแนวคิดวิธีการในการปรับการเตรียมการและการพัฒนาการเรียนการสอนที่จะเกิดในอนาคต การนำเสนอหัวข้อและข้อมูล การหาความรู้มาสอนเด็กดีมาก แต่อยากให้มีเอกสารแจกด้วย
  3. วิทยากรมีความรู้มาก สามารถบรรยายได้เห็นภาพและมีความน่าสนใจและนำไปสู่การเรียนการสอนในอนาคตได้เป็นอย่างดี ทั้งแนวทางในการนำความรู้ไปสอนให้ผู้เรียนได้หลากหลายต่อไป
  4. อยากให้มีการสัมมนาอย่างต่อเนื่อง

ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับงานสัมมนาในครั้งต่อไป สรุปได้ดังนี้

  1. สอนอย่างไรให้นักเรียนมีพัฒนาการทางภาษาได้เร็วขึ้น
  2. ขั้นตอนการหาครูญี่ปุ่นไปสอนที่โรงเรียน
  3. การสร้างมาตรฐานการศึกษาภาษาญี่ปุ่นในประเทศไทย

การสัมมนาประจำปีครั้งที่ 18 ครั้งนี้สำเร็จด้วยดีโดยได้รับความอนุเคราะห์ด้านสถานที่ อุปกรณ์ฯลฯ จากคณาจารย์ฝ่ายภาษาญี่ปุ่นและเจ้าหน้าที่ประจำเจแปนฟาวน์เดชั่น กรุงเทพฯ จึงใค่รขอขอบคุณมา ณ โอกาสนี้

สรุปโดย อ.ดร.ไอลดา ศราทธทัต มหาวิทยาลัยราชภัฎเทพสตรี
อ.จิณะ วรยุทธนาการ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ บพิตรพิมุข